วัดพระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพาน ซึ่งอยู่บริเวณอาณาเขตของ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อชาวอุดรธานีอีกแห่งหนึ่ง ห่างจากหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (อุดรธานี-หนองคาย) ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายที่บริเวณบ้านดงไร่ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๑ เพื่อไปยังอำเภอบ้านผือเป็นระยะทาง ๔๓ กิโลเมตร จากนั้นจึงเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓๔๘ (บริเวณแยกโรงพยาบาลบ้านผือ ซึ่งจะไปยังอำเภอน้ำโสม) เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร จนถึงบริเวณสามแยกบ้านติ้ว ก็ให้ขับรถตรงขึ้นเขาตามถนนลาดยาง อีกประมาณ ๔ กิโลเมตร ก็เข้าสู่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถึงทางแยกเข้าอุทยานฯ ให้ตรงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึง วัดพระบาทบัวบก
จุดเด่นของวัดมี พระธาตุเจดีย์ใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙ โดยสร้างขึ้นครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ คำว่า บ่บก เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ผักหนอก" บ่บกนี้คงมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า พระพุทธบาทบัวบก อาจมาจากคำว่า บัวบก ซึ่งหมายถึงไม่แห้งแล้งนั้นเอง
รอยพระพุทธบาทบัวบก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระธาตุขนาดใหญ่ที่วัดพระบาทบัวบก พระธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙ โดยมีพระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ เป็นภิกษุสงฆ์ผู้นำในการก่อสร้างแบบขององค์พระธาตุเลียนแบบมาจากพระธาตุพนม แต่ได้ดัดแปลงภายในทำเป็นห้องครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้องค์พระธาตุมีความสูงประมาณ ๔๕ เมตร ยอดของพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พบเมื่อครั้งขุดรื้อเศษปูนเก่าที่บริเวณรอยพระบาทออก ซึ่งในครั้งนั้นได้พบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้น แต่ปัจจุบันทางวัดได้นำไปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุแล้ว รอยพระบาทบัวบก ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในห้องด้านล่างขององค์พระธาตุ มีความยาว ๑.๙๓ เมตร กว้าง ๙๐ ซม. ปัจจุบันได้มีการก่อปูนเสริมให้เป็นรูปลักษณ์ของรอยพระบาทที่ชัดเจนขึ้น โดยตรงกลางทำเป็นลายดอกบัวบาน และมีนิ้วพระบาททั้งห้ายาวเสมอกัน บริเวณติดกับองค์พระธาตุทางทิศใต้ ทางวัดได้ก่อเสริมเพิงหินเป็น ศาสนสถานเรียกว่า "ถ้ำพระ" ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพื้นเมืองเป็นประธานของอาคาร ส่วนด้านนอกมีใบเสมาหินขนาดเล็กปักล้อมเพิงหินไว้ ถัดจากถ้ำพระไปอีกประมาณ ๕ เมตร มีอาคารอุโบสถของวัดตั้งอยู่ โดยทางวัดได้ดัดแปลงเพิงหิน ให้เป็นห้องขนาดเล็ก สำหรับใช้ในการทำสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์
บริเวณวัดพระพุทธบาทบัวบก มีสถานที่อันเนื่องมาจากตำนานข้าวต้น คือ ถ้ำพญานาค อยู่ไม่ไกลจากพระพุทธบาทนัก มีลักษณะเป็นรูโพรงขนาดใหญ่ พอที่คนสองคนจะลงไปได้พร้อม ๆ กัน กล่าวกันว่าเป็นที่อาศัยของพญามิลินทนาคตามตำนาน และเชื่อกันว่ารูถ้ำพญานาคนี้ สามารถทะลุออกไปสู่แม่น้ำโขงได้หลังจากนั้นพระพุทธบาทแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี อาจจะมีผู้บูรณะมาตามลำดับแต่ไม่ปรากฏหลักฐาน การบูรณะครั้งล่าสุดดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบูรณะเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มี พระศรีทัต เป็นผู้นำ ได้ธุดงค์มาตามลำดับจนถึง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
รอยพระบาทหลังเต่า เป็นรอยพระบาทอีกรอยหนึ่งที่พบอยู่ในเขตอุทยานฯ ภูพระบาท สำหรับชื่อเรียก"พระบาทหลังเต่า" นั้น เนื่องมาจากที่บริเวณใกล้เคียงกันนี้ มีหินทรายก้อนหนึ่งมีรูปร่างคล้ายเต่า ชาวบ้านจึงเรียก รอยพระบาทนี้ว่า "รอยพระบาทหลังเต่า" เพื่อเป็นการบอกตำแหน่งที่ตั้งของรอยพระบาท รูปทรงของรอยพระบาทเป็นแอ่งหินรูปคล้ายฝ่าเท้า หันส่วนปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงกลางของฝ่าเท้าทำเป็นรูปกลีบบัวบานซ้อนกัน รอยพระพุทธบาทบัวบก รอยพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระบาทนี้กว้าง ๗๑ ซม. ยาว ๑๖๘ ซม. บริเวณโดยรอบรอยพระพุทธบาทพบการสกัดหินเป็นหลุมกลมและช่องสี่เหลี่ยมยาวล้อมเป็นกรอบเอาไว้นอกจากนี้ยังมีแนวหลุมกลมเรียงเป็นแถวไปทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะของแนวหลุม สันนิษฐานได้ว่า แต่เดิมน่าจะมีอาคารรอยพระพุทธบาทนี้เอาไว้ในลักษณะคล้ายห้องโถงยาว แต่อาจสร้างด้วยเครื่องไม้ จึงพังทลายไปหมดแล้ว