Recent Post

Gallery

ลำดับกล้องส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระอัจฉริภาพด้านการถ่ายภาพ






      ภาพที่สุดแสนจะเจนตา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเป็นจากสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือความคิดติดตรึงของปวงชนชาวไทย คือ ภาพที่จะทรงพกกล้องถ่ายภาพ และมีอิริยบทของนักถ่ายภาพ ไม่ว่าจะย่ำไปยังดินแดนใด เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงพอพระหฤทัยศิลปะในการถ่ายภาพมากเป็นพิเศษ

       ซึ่งเมื่อดูจากพระราชประวัติ พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายภาพนี้ทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ในระยะแรกแม้จะทรงไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพนัก แต่ทรงศึกษาด้วยตัวเอง จนเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น กล้องธรรมดา หรือ กล้องถ่ายภาพยนตร์





       โดยทรงเริ่มจากกล้องถ่ายภาพชนิดที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว เริ่มทรงกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ และ ทรงใช้ฟิล์มตั้งแต่ขนาด ๑๓๕ จนถึงขนาด ๑๒๐ และขนาดพิเศษ

        นอกจากนี้ยังทรงใช้พื้นที่บริเวณชั้นล่างอาคารสถานีวิทยุ อ.ส.เป็นห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม และอัดขยายภาพ ตามพระราชประสงค์ที่จะทรง “สร้างภาพ” ให้เป็นศิลปะถูกต้อง และรวดเร็วด้วยพระองค์เอง





                    

       แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จึงเปลี่ยนรูปแบบ จากงานถ่ายภาพสวยงามเพื่อศิลปะ มาเป็นภาพถ่ายที่ทรงใช้เพื่อประกอบการทรงงานของพระองค์ และแม้กล้องถ่ายภาพ จะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ยังทรงใช้แต่กล้องคู่พระหัตถ์ แบบมาตราฐานอย่างที่นักเล่นกล้องทั้งหลายใช้กัน

1. Coronet Midget



     พระองค์ทรงมีกล้องถ่ายภาพเล็กๆ คู่พระหัตถ์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 8 พระชันษา (ราวปี พ.ศ.2479) โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานกล้องถ่ายรูป Coronet Midget สีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคาเพียง ๒ ฟรังก์สวิส แก่พระองค์ ด้วยกล้องนี้ใช้ฟิล์มราคา ๒๕ เซนต์ ซึ่งมีราคาถูก

2. Kodak Vest Pocket Montreux



     หลังจากนั้นไม่นาน ทรงใช้กล้องอีกหนึ่งกล้อง ชื่อ Kodak Vest Pocket Montreux ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม ฝรั่งเรียกว่า Minibox ใช้ฟิล์มถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพ

3. Elax Lumie’re


   ในปี พ.ศ.2481 พระองค์ทรงมีกล้อง Elax Lumie’re ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส อีกหนึ่งกล้อง ทรงใช้จนเชี่ยวชาญกับกล้องนี้เป็นอย่างดีเพราะเหมาะกับพระหัตถ์มาก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Elax Lumie’re อีกกล้องหนึ่ง

     ซึ่งในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดลกลับเมืองไทย พระองค์ทรงใช้กล้อง Elax Lumie’re บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงสนพระทัยทางการถ่ายภาพเป็นอันมาก


4. Linhof




      เข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ผลิตกล้องยี่ห้อดีๆ ต่างก็ปรับปรุงคุณภาพเพื่อแข่งขันกัน Linhofเป็นอีกยี่ห้อที่มาจากเยอรมัน พระองค์ทรงทดลองใช้ แต่ไม่เหมาะกับพระหัตถ์ของพระองค์ จึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้อีกต่อไป

5. Hasselblad SLR




       Hasselblad เป็นกล้องที่ผลิตจากสวีเดน ที่ครองตลาดมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกล้อง SLR(single lens Reflex) ใช้ฟิล์ม 3 นิ้ว หรือ เบอร์120 ที่มีจุดเด่นก็คือ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ มีแมกกาซีนใส่ฟิล์มได้หลายชนิดและหลายขนาด พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องยี่ห้อนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเกิดแสงรั่วเข้าแมกกาซีน ช่างไทยสมัยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ต้องส่งกลับไปซ่อมที่บริษัทต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเลิกใช้

6. Ikoflex



      บริษัท Zeiss ikon ได้ออกกล้องเป็นของตัวเองบ้างชื่อว่า Ikoflex ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) Lens Zeiss Opton Tessar 1:3:5 F.75 mm. No.637288 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทดลองใช้กล้องเมื่อปี พ.ศ.2494 เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงใช้กล้องนี้อยู่นาน ทรงมีพระราชดำรัสว่าใช้ง่าย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัดดีมาก

7. Contax II





      บริษัท Zeiss ikon ผู้ผลิตเลนส์มีชื่อเสียงมากของเยอรมนี และผลิตเลนส์ให้กับกล้องชั้นดีต่างๆ มากมาย ได้ออกกล้อง Contax-s เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR (single lens Reflex) หลังจากนั้นปรับปรุงเป็น Contax II ในปี พ.ศ.2493

      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้กล้อง Contax II ใช้เลนส์ Zeiss-opton No.821255 กับ Zeiss-opton No.885584 Sonar 1:2 f.50 mm. เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นกล้องที่นำสมัยในสมัยนั้น สามารเปลี่ยนเลนส์ได้ทั้งยังมีเครื่องวัดแสงในตัวด้วย เสด็จฯ ณ ที่ใดจะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันทรงพระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.9

8. Leica M (1967-1987)



     ในช่วงที่ Contax II กำลังเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ บริษัท E.Leitz Wetzlar ของเยอรมนีอีกเช่นกัน ได้ออก Leica เป็นระบบ M แบบใหม่ และมีชื่อเสียงพอสมควร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีกล้องรุ่นนี้เป็นกล้องมือสอง และทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง

9. Super ikonta




        กล้อง Super ikonta ของบริษัท Zeiss ikon ใช้ฟิล์มเบอร์ 120 ได้ภาพ 6×9 ซม. 8 ภาพ หรือสามารถแบ่งเป็นภาพ 6×4.5 ซม. 16 ภาพ พระองค์ทรงใช้อยู่ระยะหนึ่งแต่มีข้อเสียคือฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป จึงได้พระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ในสมัยนั้น (นายอาณัติ บุนนาค) ใช้ในงานราชการต่อไป

10. Robot Royal No.G



       ในขณะนั้นกล้องถ่ายภาพในเครือบริษัท Robot ได้ออกกล้อง Robot Royal No.G 125721 Mod 111 Lens : Schneider-Kreuznach Xenon 1.1.9/3542375 เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มเบอร์ 135 ภาพที่ได้เป็นสีเหลี่ยมจตุรัส ลักษณะกล้องป้อมกะทัดรัด เหมาะพระหัตถ์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก

11. Kiev




      เมื่อครั้งประเทศไทยได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2496 ที่สวนลุมพินี สถานฑูตรัสเซียมาเปิดร้าน เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย กล้องยี่ห้อ Kiev ซึ่งเป็นกล้องที่คล้ายกับ Zeiss ikon ขนาด 6×9 ซม.ทรงรับไว้ และทดลองใช้จนเข้าพระทัยทุกขั้นตอน

12. Canon-7




       ในระยะหลังๆ กล้องที่ผลิตจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงใช้กล้องญี่ปุ่นดูบ้าง อย่าง Canon-7 แบบเล็งระดับตา แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามพระราชประสงค์เท่าใดนัก เพราะไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้

13. Canon A-1


         ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นรุ่น Canon A-1 ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR (Single Lens Reflex) สามารถใช้งานได้สองระบบคือระบบ Manual และ Auto พระองค์ทรงมีกล้องรุ่นนี้อยู่สองกล้อง คือ กล้องแรก Canon A1/2097120 FD 1:1.4/50 mm. 2052111 เลนส์มาตรฐาน อีกกล้องหนึ่งคือ Canon A1/2307372 Lens RMC Tokina Zoom 35-105 mm. 1:3.5-4.3

14. Canon 35



         ต่อมาทรงมีกล้องรุ่นใหม่ๆ แบบอัตโนมัติคือ กล้อง Canon 35 Autofocus Lens f=38 mm เป็นกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พระองค์ทรงใช้อยู่พักหนึ่งทรงปรารภว่า ใช้ง่ายเกินไป และไม่ค่อยเหมาะกับพระหัตถ์มากนัก

15. Nikon F3


       กล้องญี่ปุ่นที่ตีคู่มาก็ คือ Nikon กล้องรุ่น F3 ของ Nikon ได้รับความนิยมมากเพราะรูปทรงแปลกใหม่ นำสมัยใช้วัสดุแกร่ง แข็งแรง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้กล้องรุ่นนี้พร้อมเลนส์มาตรฐาน และเลนส์ซูมขนาด 35-105 mm. อยู่พักหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จฯ รอบโลกทรงใช้กล้อง Nikon รุ่น F3 นี้บันทึกภาพเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก แต่หากมีน้ำหนักมากไปนิด จึงพระราชทานให้เป็นสมบัติของช่างภาพส่วนพระองค์มาจนกระทั่งทุกวันนี้

6. Canon EOS 650 / EOS 620



       ในช่วงที่กล้องถ่ายภาพประเภท ทำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทดลองใช้กลุ่ม Canon EOS โดยเริ่มตั้งแต่ EOS 650 และต่อมาก็ทรงทดลองใช้รุ่น EOS 620 อีกรุ่นหนึ่ง

17. Nikon F401s



       ขณะเดียวกันทางค่าย Nikon ก็ออกรุ่น F401s เป็นรุ่นที่มีแฟลชในตัวซึ่งมี Image Master Comtrol สามารถใช้เลนส์ปรับระยะชัดอัตโนมัติได้ ใช้เลนส์35-105 mm. f3.5-4.5

18. Minolta Dynax 5000i



       อีกยี่ห้อหนึ่งที่ออกมาสร้างความแปลกใหม่ ให้กับวงการถ่ายภาพ คือ Minolta Dynax 5000i สร้างความสะดวกสบาย และถ่ายภาพได้ผลเที่ยงตรง ออกแบบได้แปลกใหม่ และเพิ่มการสร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบการ์ด (Creative Expansion Card System) มีหลายแบบ อาทิ ถ่ายภาพกีฬา ถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น


19. Minolta Weather Matic 35DL


       กล้องรุ่นใหม่สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว แบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทดลองใช้เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของกล้องถ่ายภาพ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพ็คแบบต่างๆ หลายรุ่น อาทิเช่น Canon-HIS Lens Canon Zoom EF28-80mm., Canon Autoboy Tele 6 Lens 35-60 mm. f/3.5-5.6., Canon Zoom Xl Lens Zoom 39-85 mm f/3.6-7.3, Ricoh FF-9D Lens 35 mm f/3.5, Pantax AF Zoom 35-70 mm. กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom

20. RICOH EF


       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจับสลากได้รางวัลกล้อง RICOH EF-9D        LENS 35 mm. f 1:35 พอในปีต่อมา จึงทรงพระราชทานเป็นของขวัญจับสลาก

21. Canon EOS 30



       กล้องรุ่นล่าสุดที่พระองค์ทรงใช้ถ่ายรูปประชาชน เมื่อเสด็จกลับจาก รพ.ศิริราช คือรุ่น Canon EOS 30

       จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้กล้องถ่ายภาพอย่างมากมาย บางชนิดพระองค์จะทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง และไม่ได้เจาะจงว่าใช้กล้องใหม่อยู่เสมอ พอมาระยะหลังหลายบริษัทนำกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพขึ้นทูลเกล้าถวาย

       เนื่องในวโรกาสต่างๆ พระองค์ทรงทดลองใช้แล้วบางกล้องจะทรงเก็บเอาไว้เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ ส่วนกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างดีที่เหลือ ก็ได้โปรดพระราชทานได้บุคคล และหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ทางการถ่ายภาพต่อไป

























“เกี่ยวก้บกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ เคยมีผู้สนใจในวงการถ่ายภาพสงสัยกันอยู่ว่า ทำไมจึงไม่ทรงใช้กล้องถ่ายภาพชนิดเยี่ยมยอดที่มีราคาแพงที่นักถ่ายภาพบางคนเขาใช้กัน เพราะตามความเป็นจริง การที่จะทรงใช้กล้องดีมีคุณภาพสูงเพียงใดก็ย่อมได้

แต่กลับทรงใช้กล้องถ่ายภาพแบบธรรมดาที่ใครๆ หาซื้อขายได้ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งพระราชจริยวัตรนี้ มีผู้ใหญ่ในวงการถ่ายภาพอธิบายเป็นการเทิดพระเกียรติว่า


ประเทศไทยเราผลิตกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย เราต้องเสียดุลย์การค้าให้กับต่างประเทศเป็นอันมาก จึงควรสังวรณ์ ระวังการใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ดีแต่พอเหมาะพอควร ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจทางการถ่าภาพต้องการผลิตงานคุณภาพดี ต้องใช้ของดีราคาแพงนี่เป็นเรื่องธรรมดา 


ดังนั้นผู้ที่ถ่ายภาพกันโดยทั่วไปเพียงแต่ใช้กล้องถ่ายภาพระดับมาตรฐานทำงานได้ อย่างถูกต้องก็เหมาะดีที่สุดแล้ว ความสำคัญเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงเป็นแบบอย่างที่วิเศษที่สุด สมควรที่วงการถ่ายภาพทั้งหลายจักได้บำเพ็ญตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อเป็นศักดิ์สิริมงคลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก MTHAI

    Choose :
  • OR
  • To comment